วันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ประเพณี ฮีตสิบสอง

ดูรูปภาพ ฮีตสิบสอง
ชื่อ
ฮีตสิบสอง
ภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัดกาฬสินธุ์


ช่วงเวลา ความสำคัญ พิธีกรรม และ สาระ
ประเพณีท้องถิ่นกาฬสินธุ์ ยังยึดถือ และปฏิบัติตามฮีตสิบสอง
คำว่า "ฮีต" หมายถึง จารีต ขนบธรรมเนียมประเพณี
แบบแผนฮีตที่ถือปฏิบัติกันอยู่ ๑๒ อย่าง ภาษาพื้นบ้านเรียกว่า "บุญ" ดังนี้
๑. บุญข้าวกรรม
เกี่ยวกับพระภิกษุต้องอาบัติสังฆาทิเสส
ต้องอยู่กรรมจึงจะพ้นอาบัติ ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ในระหว่างภิกษุเข้ากรรม
ญาติ โยม สาธุชน ผู้หวังบุญกุศล จะไปร่วมทำบุญบริจาคทาน รักษาศีลเจริญภาวนา
และฟังธรรม เป็นการร่วมทำบุญระหว่างพระภิกษุ สามเณร และชาวบ้าน
กำหนดวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนอ้าย เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "บุญเดือนอ้าย"
๒. บุญคูนลาน
การทำบุญคูนลาน จะทำที่วัด หรือที่บ้านก็ได้ โดยชาวบ้านจะเอาข้าวมารวมกัน
แล้วนิมนต์พระภิกษุมาเจริญพระพุทธมนต์ จัดน้ำอบ น้ำหอมไว้ประพรม
วนด้ายสายสิญจน์บริเวณรอบกองข้าว ตอนเช้ามีการถวายอาหารบิณฑบาต
และนำเอาน้ำพระพุทธมนต์ไปรดกองข้าว ถ้าทำที่บ้านเรียกว่า "บุญกุ้มข้าว"
กำหนดในเดือนยี่ เรียกอย่างหนึ่งว่า "บุญเดือนยี่
๓. บุญข้าวจี่
เดือนสามชาวบ้านนิยมทำบุญข้าวจี่ เพื่อถวายพระ
gป็นการละทานชนิดหนึ่ง และถือว่าได้รับอานิสงส์มากงานหนึ่ง
กำหนดทำบุญในเดือนสาม
๔. บุญพระเวส
บุญที่มีการเทศพระเวส หรือบุญมหาชาติ
หนังสือมหาชาติเป็นหนังสือชาดกที่แสดงจริยวัตรของพระพุทธเจ้า เมื่อเสวยชาติเป็นพระเวสสันดร
กำหนดทำบุญเดือนสี่ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "บุญเดือนสี่"
๕. บุญสรงน้ำ
บุญสรงน้ำ มีการรดน้ำ หรือสรงน้ำพระพุทธรูป พระสงฆ์
และผู้หลักผู้ใหญ่ มีการทำบุญทำทาน เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "บุญตรุษสงกรานต์"
กำหนดทำบุญในเดือน ห้า
๖. บุญบั้งไฟ
ก่อนการทำนาชาวบ้านในจังหวัดในภาคอิสาน จะมีการฉลองอย่างสนุกสนาน
โดยการจุดบั้งไฟ เพื่อไปบอกพญาแถน เชื่อว่าจะทำให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล
มีการตกแต่งบั้งไฟให้สวยงามนำมาประกวดแห่ แข่งขันกันในวันรุ่งขึ้น
กำหนดทำบุญในเดือน หก
๗. บุญซำฮะ
ซำฮะ คือการชำระล้างสิ่งสกปรก รกรุงรังให้สะอาดหมดจด
เมื่อถึงเดือน ๗ ชาวบ้านจะรวมกันทำบุญโดยยึดเอา "ผาม หรือศาลากลางบ้าน"
เป็นสถานที่ทำบุญ ชาวบ้านจะเตรียมดอกไม้ธูปเทียน โอน้ำ ฝ้ายใน ไหมหลอด
ฝ้ายผูกแขน แห่ทรายมารวมกันที่ ผามหรือศาลากลางบ้าน
ตอนเย็นนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ ตอนเช้าถวายอาหาร
เมื่อเสร็จพิธีทุกคนจะนำน้ำพระพุทธมนต์ ฝ้ายผูกแขน
แห่ทรายของตนกลับบ้าน นำน้ำมนต์ไปรดลูกหลาน ทรายนำไปหว่านรอบบ้าน
ฝ้ายผูกแขนนำไปผุกข้อมือลูกหลานเพื่อให้เกิดสวัสดิมงคลตลอดปี
ถ้ามีการเจ็บไข้ได้ป่วยต้องมีการสวดถอด เป็นต้น
กำหนด ทำบุญในเดือน ๗
๘. บุญเข้าพรรษา
ในเทศกาลเข้าพรรษา เป็นเวลาที่พระภิกษุสงฆ์จะต้องบำเพ็ญไตรสิกขา
คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ให้บริบูรณ์ ส่วนคฤหัสถ์ก็จะต้องบำเพ็ญบุญกริยาวัตถุ
๓ คือ ทาน ศีล ภาวนา ให้เต็มเปี่ยม ตอนเช้าญาติโยมจะนำอาหารมาถวายพระภิกษุ
ตอนบ่ายนำดอกไม้ธูปเทียน ข้าวสาร ผ้าอาบน้ำฝน รวมกันที่ศาลาวัด
ตอนเย็นญาติโยมพากันทำวัตรเย็นแล้วฟังเทศน์
กำหนด วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "บุญเดือน ๘"
๙. บุญข้าวประดับดิน
ห่ออาหาร และของขบเคี้ยวเป็นห่อๆ แล้วนำไปถวายวางแบไว้กับดิน
จึงเรียกว่า "บุญข้าวประดับดิน" ชาวบ้านจะจัดอาหารคาว หวาน
และหมากพลู บุหรี่ กะว่าให้ได้ ๔ ส่วน ส่วนที่ ๑ เลี้ยงดูกันในครอบครัว
ส่วนที่ ๒ แจกให้ญาติพี่น้อง
ส่วนที่ ๓ อุทิศไปให้ญาติที่ตาย
ส่วนที่ ๔ นำไปถวายพระสงฆ์
ทำเป็นห่อๆให้ได้พอควร โดยนำใบตองกล้วย มาห่อของคาว
หวาน หมากพลู บุหรี่ แล้วเย็บรวมกันเป็นห่อใหญ่ ในระหว่าง
เช้ามืดในวันรุ่งขึ้นจะนำห่อเหล่านี้ไปวางไว้บริเวณวัด
ด้วยถือว่าญาติพี่น้องจะมารับของที่นั่น (เชื่อกันว่าเป็นวันยมทูตเปิดนรกชั่วคราว
ให้สัตว์นรก มารับของทานในระยะหนึ่ง และยังถือว่าเป็นวันกตัญญูอีกด้วย)
ตอนเช้านำอาหารอีกส่วนหนึ่งไปถวายพระ ฟังพระธรรมเทศนา
เสร็จแล้วทำพิธีอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
กำหนดทำบุญในเดือน ๙
๑๐. บุญข้าวสาก
การเขียนชื่อลงในพาข้าว (สำรับกับข้าว) เรียกว่าข้าวสาก (สลาก)
ญาติโยมจะจัดอาหารเป็นห่อๆ แล้วนำไปแขวนไว้ตามต้นไม้
โดยทำกันในตอนกลางวัน ก่อนเพล เป็นอาหาร คาว หวาน
พอถึงเวลา ๔ โมงเช้า พระสงฆ์จะตีกลองโฮม (รวม)
ญาติโยมจะนำพาข้าว (สำรับกับข้าว) ของตนมารวมกัน ณ ศาลาการเปรียญ
เจ้าภาพจะเขียนชื่อลงในกระดาษม้วนลงในบาตร
เมื่อพร้อมแล้วหัวหน้ากล่าวนำคำถวายสลากภัต จบแล้วยกบาตรสลากไปให้พระจับ
ถูกชื่อใคร ก็ให้ไปถวายพระองค์นั้น ก่อนจะถวายพาข้าวให้นำพาข้าว ๑ พา
มาวางหน้าพระเถระ แล้วให้พระเถระ กล่าวคำอุปโลกน์
กำหนด บุญข้าวสากนิยมทำกันในเดือน ๑๐
๑๑. บุญออกพรรษา
การทำบุญออกพรรษานี้ เป็นการเปิดโอกาสให้พระภิกษุสงฆ์ได้มีโอกาส
ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ พระภิกษุสงฆ์สามารถเดินทางไปอบรมศีลธรรม
หรือไปเยี่ยม ถามข่าวคราว ญาติพี่น้องได้ และภิกษุสงฆ์สามารถหาผ้ามาผลัดเปลี่ยนได้
เมื่อถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑
ตั้งแต่เช้ามืดจะมีการตีระฆังให้พระสงฆ์ไปรวมกันที่โบสถ์แสดงอาบัติเช้า
จบแล้วมีการปวารณา คือเปิดโอกาสให้พระภิกษุสงฆ์ด้วยกันว่ากล่าวตักเตือนกันได้
กำหนด บุญออกพรรษาในเดือน ๑๑
๑๒. บุญกฐิน
ผ้าที่ใช้สดึงทำเป็นกรอบขึงเย็บจีวร เรียกว่าผ้ากฐิน ผู้ใดศรัทธา
ปรารถนาจะถวายผ้ากฐิน ณ วัดใดวัดหนึ่งให้เขียนสลาก (ใบจอง)
ไปติดไว้ที่ผนังโบสถ์ หรือศาลาวัด ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ผู้อื่นจองทับ
เมื่อถึงวันกำหนดก็บอกญาติโยมให้มาร่วมทำบุญ มีมหรสพสมโภช
และฟังเทศน์ รุ่งเช้าก็นำผ้ากฐินไปทอดถวายที่วัดเป็นอันเสร็จพิธี
กำหนด ทำบุญระหว่างวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ถึง วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น